สมาคมประกันวินาศภัยไทยมุ่งเปลี่ยน “ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นทุ่งกุลายิ้มได้” ขยายพื้นที่โครงการธนาคารน้ำใต้ดินแก้ภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.6 แสนไร่ในปี 2564
09 December 2021 TGIA Center Activitiesนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนประกันภัยพืชผล และคณะผู้บริหารสมาคมฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองฮี และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นโครงการที่สมาคมฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งหรือน้ำท่วมซ้ำซาก และเพื่อเป็นต้นแบบการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบของไทย
“โครงการธนาคารน้ำใต้ดินนี้ สมาคมฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้ความร่วมมือของ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ได้จัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ณ ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด หรือโครงการ “หนองฮีโมเดล” ซึ่งถือเป็นโครงการแรกที่สมาคมฯ ได้ริเริ่มดำเนินการในพื้นที่รวม 30 หมู่บ้าน ประชากร 3,408 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 78,913 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 3,095 บ่อ ให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
ในปี 2564 คณะกรรมการกองทุนประกันภัยพืชผล สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่ในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยคัดเลือกอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานภายใต้ “โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด” ครอบคลุมพื้นที่ 88,862 ไร่ รวม 21 หมู่บ้าน จำนวน 3,286 ครัวเรือน ให้ได้รับประโยชน์ต่อไป
สำหรับพื้นที่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สมาคมฯ ได้สนับสนุนการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. บ่อปิดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ขนาด 1x1x1.5 เมตร จำนวน 2,100 บ่อ 2. บ่อเปิด ขนาด 10x10x7-12 เมตร จำนวน 35 บ่อ 3. บ่อเปิด ขนาด 40x40x7-12 เมตร จำนวน 26 บ่อ 4. บ่อเปิดแบบเจาะเพื่อป้องกันนำ้ล้นตลิ่งตามริมลำน้ำเสียว ขนาด 0.6x12 เมตร จำนวน 291 บ่อ 5. บ่อทูอินวัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร จำนวน 21 บ่อ รวมทั้งหมด 2,473 บ่อ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนประกันภัยพืชผล จำนวน 23,285,500 บาท และมอบหมายให้สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมจนเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้สมาคมฯ จะได้ดำเนินการส่งมอบโครงการให้กับทางรัฐบาลเพื่อศึกษาและขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำตามระบบธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้ายว่า “ปัจจุบันการเกิดภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือภัยน้ำท่วม ล้วนส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ ถึงแม้การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ จะมีบทบาทสำคัญในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ประกันภัยก็ถือเป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายที่ปลายเหตุ สมาคมฯ จึงได้เข้ามาดำเนินโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายระบบธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งผลจากการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 2 โครงการสามารถครอบคลุมพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้รวม 2 อำเภอ 3 ตำบล พื้นที่รวมกว่า 167,775 ไร่ ผมเชื่อมั่นว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดินของสมาคมฯ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงเกษตรกรที่ประสบปัญหาทางการเกษตร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการเปลี่ยนให้พื้นที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้” ต่อไป”
Digital PR Trend 2018: Digital PR Strategy
31 January 2018 TGIA Center Activities