นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผย ภาพรวมกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ของธุรกิจประกันภัย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 มีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับทั้งสิ้น 624,204 กรมธรรม์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านฉบับ
ทั้งนี้ ภาพรวมกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) จากบริษัทประกันภัย 24 บริษัท ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 มีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 624,204 กรมธรรม์ คิดเป็นร้อยละ 62.42 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านฉบับ แยกเป็นของบริษัทประกันชีวิต 7 บริษัท จำนวน 59,162 กรมธรรม์ บริษัทประกันวินาศภัย 17 บริษัท จำนวน 469,200 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันภัย 200 จากบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 24 บริษัท มีจำนวนทั้งสิ้น 95,842 กรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยรับจำนวน 19.17 ล้านบาท และมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้วจำนวน 391 ราย ทุกรายมีการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเรียบร้อยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 8.32 ล้านบาท
จังหวัดที่มียอดการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย 200 สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และอุดรธานี ตามลำดับ โดยช่องทางการจำหน่ายสูงสุดได้แก่ตัวแทนบริษัทประกันภัย รองลงมาได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และไปรษณีย์ไทย
“ไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการฯ ทั้ง 24 บริษัท ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนตระหนักและเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันภัย 200 ซึ่งจะทำให้ยอดการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”เลขาธิการ คปภ. กล่าว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า กรมธรรม์ประกันภัย 200 เป็นกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยเพื่อแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัยยังมีการพัฒนาการประกันภัยสำหรับรายย่อยประเภทอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) สำหรับรายย่อย การประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัด การประกันภัยท่องเที่ยวสุขใจสำหรับรายย่อย การประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประเภทสามัญ และการประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ฝากเตือนผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย 200 ขอให้ตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ เพราะการต่ออายุในปีต่อไป หากผู้เอาประกันภัยต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นสุดความคุ้มครอง จะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย แต่หากผู้เอาประกันภัยต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยภายหลังจาก 30 วัน นับจากวันสิ้นสุดความคุ้มครอง จะต้องเริ่มนับระยะเวลารอคอยใหม่ 120 วัน จึงจะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th
www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 24 กันยายน 2558
คปภ.จี้ประกันคุ้มครองเหยื่อรถบัส
05 March 2014 General