การประกันภัยรถยนต์
ประกันภัย พ.ร.บ.
ปรับเพิ่มความคุ้มครอง
เริ่ม 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
คือ การประกันภัยเพื่อคุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายอันเกิดจากการใช้รถ ซึ่งได้แก่ ความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์ ได้แก่
ความเสียหาย บุบสลาย หรือสูญหายของตัวรถยนต์ นอกจากนี้ ความสูญเสียหรือเสียหายที่รถยนต์ก่อให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน
ของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น
เจ้าของรถ หรือผู้เช่าซื้อรถ หรือผู้ครอบครองรถ หรือผู้ใช้รถ หรือผู้ขับขี่รถยนต์
การประกันภัยรถยนต์ มีกี่ประเภท? แตกต่างกันอย่างไร?
มี 2 ประเภท ได้แก่ การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
การประกันภัยรถยนต์
ภาคบังคับ
การประกันภัยรถยนต์
ภาคสมัครใจ
1. การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance)
หมายถึง การประกันภัยรถยนต์ที่กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย ตามความคุ้มครองที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ คือ การประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่เรียกว่า “การประกันภัย พ.ร.บ.” (เว้นแต่ รถที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ระบุยกเว้นไว้ เช่น รถของสำนักพระราชวัง รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ รถของกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น) ทั้งนี้ หากเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถไม่ทำประกันภัยตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนด จะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ปรับไม่เกิน 10,000 บาท)
การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถทุกคน เมื่อประสบภัยจากรถที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุกติดตั้งมากับรถ ส่งผลให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ได้รับการชดใช้และเยียวยาความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดขึ้น
ความคุ้มครองครอบคลุมอะไรบ้าง?
ความคุ้มครองผู้ประสบภัย
บริษัทประกันวินาศภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยในนามผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ดังนี้
ความคุ้มครอง | ต่อราย |
ค่ารักษาพยาบาล ตามความเสียหายที่แท้จริง | ไม่เกิน 80,000 บาท |
เสียชีวิต | 500,000 บาท |
ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใด ๆ ในอาชีพประจำ และอาชีพอื่น ๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป) | 500,000 บาท |
สูญเสียมือสองข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนสองข้าง หรือเท้าสองข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาสองข้าง หรือสายตาสองข้าง (ตาบอด) | 500,000 บาท |
สูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ แขนหนึ่งข้าง เท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า ขาหนึ่งข้าง สายตาหนึ่งข้าง (ตาบอด) ตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป |
500,000 บาท |
ทุพพลภาพอย่างถาวร (ไม่สามารถประกอบอาชีพประจำได้) | 300,000 บาท |
สูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนหนึ่งข้าง หรือเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาหนึ่งข้าง หรือสายตาหนึ่งข้าง (ตาบอด) กรณีใดกรณีหนึ่ง |
250,000 บาท |
หูหนวก เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว (โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนอย่างติดตัว) |
250,000 บาท |
สูญเสียอวัยวะอื่นใด ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของผู้ประสบภัย เช่น การสูญเสีย ม้าม ปอด ตับ ไต ฟันแท้ทั้งซี่ตั้งแต่ 5 ซี่ ขึ้นไป หรือกรณีกะโหลกศีรษะถูกทำให้เสียหาย เป็นเหตุให้ต้องใช้กะโหลกเทียม เป็นต้น |
250,000 บาท |
สูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว | 200,000 บาท |
ค่าชดเชยรายวันกรณีเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน จ่ายตามวันที่รักษาจริง ไม่เกิน 20 วัน | 200 บาท/วัน |
ค่าเสียหายเบื้องต้น
บริษัทประกันวินาศภัยจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (เป็นวงเงินเดียวกันกับความคุ้มครองข้างต้น) ให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับการร้องขอ โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อหนึ่งคน
- กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
- (ก) ตาบอด
- (ข) หูหนวก
- (ค) เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
- (ง) สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
- (จ) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว
- (ฉ) เสียอวัยวะอื่นใด
- (ช) จิตพิการอย่างติดตัว
- (ซ) ทุพพลภาพอย่างถาวร
- กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อชีวิต บริษัทจะจ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ประสบภัยตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อหนึ่งคน
- จำนวนตามข้อ 1. และ 2. รวมกัน หรือจำนวนข้อ 1. และ 3. รวมกัน แต่หากผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายตามข้อ 1. 2. และ 3. หรือได้รับความเสียหายตามข้อ 2. และ 3. ให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันไม่เกินจำนวน 65,000 บาท
หมายเหตุ
ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่รถที่เป็นฝ่ายผิด หรือไม่มีคู่กรณี จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น
2. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance)
หมายถึง การประกันภัยที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจของเจ้าของรถยนต์ ผู้ครอบครองรถยนต์ หรือผู้ขับขี่รถยนต์ โดยไม่ได้เกิดจากการถูกบังคับโดยกฎหมายแต่อย่างใด เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวรถ หรือความรับผิดของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอก
ปัจจุบันการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่เป็นมาตรฐาน แบ่งความคุ้มครองได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 2
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 3
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 4 หรือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 5 หรือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองภัยเฉพาะ แบบประกัน 2 พลัส (2+) แบบประกัน 3 พลัส (3+)
ความคุ้มครองครอบคลุมอะไรบ้าง
แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1
ให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม และสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเภทอื่น ๆ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่น ๆ โดยมีความคุ้มครองหลักครบทั้ง 3 หมวดการคุ้มครอง ดังนี้
1. หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย บริษัทประกันวินาศภัยจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อคน (ต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อคน) ที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อครั้งที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
ทั้งนี้ บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองจะไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น
1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
2. หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหายไฟไหม้
2.1 กรณีรถยนต์สูญหาย บริษัทประกันวินาศภัยจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อรถยนต์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามมาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์โดยโรงงานประกอบรถยนต์หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์ และให้รวมถึงอุปกรณ์เครื่องตกแต่งที่ได้ทำเพิ่มขึ้น และผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบด้วยแล้ว สูญหายไปอันเกิดจากการกระทำความผิดเฉพาะฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือเกิดความเสียหายต่อรถยนต์อันเกิดจากการกระทำความผิด หรือการพยายามกระทำความผิดเช่นว่านั้น แต่ไม่รวมการสูญหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
2.2 กรณีรถยนต์ไฟไหม้ บริษัทประกันวินาศภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อรถยนต์เกิดความเสียหายจากไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการไหม้โดยตัวของมันเอง หรือเป็นการไหม้ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม
3. หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัย ต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์มาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์โดยโรงงานประกอบรถยนต์หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์ และให้รวมถึงอุปกรณ์เครื่องตกแต่งที่ได้ทำเพิ่มขึ้น และผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบด้วยแล้ว แต่ไม่รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ เช่น กันชนหน้ารถแตกหักจากการขับรถชนต้นไม้ ประตูรถได้รับความเสียหายจากการถูกเฉี่ยวชนกิ่งไม้หล่นใส่หลังคารถ เป็นต้น
การประกันภัยรถยนต์ประเภท 2
เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แตกต่างกันเพียงไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ โดยมีความคุ้มครองหลัก ดังนี้
1. หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย บริษัทประกันวินาศภัยจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อคน (ต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อคน) ที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อครั้งที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
ทั้งนี้ บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองจะไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น
1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
2. หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหายไฟไหม้
2.1 กรณีรถยนต์สูญหาย บริษัทประกันวินาศภัยจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อรถยนต์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามมาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์โดยโรงงานประกอบรถยนต์หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์ และให้รวมถึงอุปกรณ์เครื่องตกแต่งที่ได้ทำเพิ่มขึ้น และผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบด้วยแล้ว สูญหายไปอันเกิดจากการกระทำความผิดเฉพาะฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือเกิดความเสียหายต่อรถยนต์อันเกิดจากการกระทำความผิด หรือการพยายามกระทำความผิดเช่นว่านั้น แต่ไม่รวมการสูญหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
2.2 กรณีรถยนต์ไฟไหม้ บริษัทประกันวินาศภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อรถยนต์เกิดความเสียหายจากไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการไหม้โดยตัวของมันเอง หรือเป็นการไหม้ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม
การประกันภัยรถยนต์ประเภท 3
เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองน้อยกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 และประเภท 2 โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ดังนี้
1. ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย บริษัทประกันวินาศภัยจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อคน (ต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อคน) ที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อครั้งที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
ทั้งนี้ บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองจะไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น
2. ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
4. การประกันภัยรถยนต์ประเภท 4 หรือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก
ให้ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 100,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
5. การประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 หรือ การประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย
เป็นแบบคุ้มครองภัยเฉพาะที่พัฒนาใช้งานขึ้นมาในภายหลัง แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. แบบประกัน 2 พลัส (2+)
ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัย ชั้น 2 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
• คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
• คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
• คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
2. แบบประกัน 3 พลัส (3+)
ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัย ชั้น 3 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
• คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
• คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
นอกเหนือจากความคุ้มครองหลักในการประกันภัยทั้ง 5 ประเภทข้างต้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยยังสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ได้อีก 3 แบบ คือ
1. เอกสารแนบท้ายความคุ้มครองเพิ่มเติม การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ร.ย.01) ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุพพลภาพชั่วคราว ของผู้ขับขี่และผู้โดยสารซึ่งอยู่ใน หรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้นหรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย
2. เอกสารแนบท้ายความคุ้มครองเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาล (ร.ย.02) ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารซึ่งอยู่ในหรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้นหรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย
3. เอกสารแนบท้ายความคุ้มครองเพิ่มเติม การประกันตัวผู้ขับขี่ (ร.ย.03) ให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย กรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถูกควบคุมตัวในคดีอาญา ซึ่งบริษัทประกันภัยจะดำเนินการประกันตัวตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาลกำหนดจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ตารางสรุปความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ
ประเภท/ ความคุ้มครอง |
หมวดการความรับผิดต่อบุคคลภายนอก | หมวดการ คุ้มครองรถยนต์ สูญหาย ไฟไหม้ |
หมวดการคุ้มครอง ความเสียหายต่อ รถยนต์ |
|
ความเสียหายต่อชีวิต ร่างการ หรืออนามัย |
ความเสียหายต่อ ทรัพย์สิน |
|||
ประเภท 1 | ||||
ประเภท 2 | ||||
ประเภท 3 | ||||
ประเภท 4 | ||||
ประเภท 2+ | เฉพาะรถยนต์ | |||
ประเภท 3+ | เฉพาะรถยนต์ |
อัตราเบี้ยประกันภัย ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?
- อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) แบ่งตามประเภทของรถ
- อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
- • เบี้ยประกันภัยพื้นฐานตามประเภทรถ
- • กลุ่มรถยนต์
- • ลักษณะการใช้รถ
- • อายุรถยนต์
- • ขนาดรถยนต์
- • จำนวนเงินเอาประกันภัย
- • อายุผู้ขับขี่
- • อุปกรณ์เพิ่มพิเศษ
อ้างอิง คำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เอกสารประกอบ เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์. สมาคมประกันวินาศภัยไทย. คู่มือวิชาการประกันภัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.